หนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 เม.ย. 2568

| 19 view

เจ้าหน้าที่ - น.ส. อินนาส มากแก้ว

เวลาการให้บริการทำหนังสือเดินทางของสถานเอกอัครราชทูตฯ
ทุกวันจันทร์ – วันพุธ เวลา 9.00 – 12.00 น.
1. ต้องยื่นคำร้องเมื่อใด
ท่านควรยื่นคำร้องขอรับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เมื่อหนังสือเดินทางเล่มเดิมมีอายุเหลือเพียง 6 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาในการยื่นขอต่อหรือเปลี่ยนวีซ่า ปัญหาสายการบินปฏิเสธการขึ้นเครื่อง หรือหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศ และต้องยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง 2 – 4 สัปดาห์ ก่อนวันที่ท่านจะใช้เดินทาง


2. เอกสารและหลักฐานที่จะต้องยื่น
2.1 บุคคลทั่วไป (ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)
• บัตรประจำตัวประชาชนไทยตัวจริง
• หนังสือเดินทางเล่มเดิม
• หากเป็นกรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ต้องมีใบแจ้งความจากสำนักงาน Royal Oman Police (ROP) แผนก Division of Security Affairs (Lost Documents) ซึ่งต้องระบุชื่อและเลขที่หนังสือเดินทางให้ตรงกับหนังสือเดินทางที่สูญหาย และสำเนาหนังสือเดินทางเล่มที่หายมาแสดง
• ชื่อ - นามสกุล ในหนังสือเดินทาง จะเป็นไปตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ประเทศไทย
กรณีต้องการให้นามสกุล เป็นนามสกุลหลังการสมรส/หย่า ต้องดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลที่ประเทศไทยให้เรียบร้อยก่อน
• ค่าธรรมเนียม
หนังสือเดินทาง 5 ปี ค่าธรรมเนียม = 15 ริยาลโอมาน
หนังสือเดินทาง 10 ปี ค่าธรรมเนียม = 20 ริยาลโอมาน
* รับเฉพาะ เงินสด เท่านั้น


2.2 ผู้เยาว์ (มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์)

• เอกสารและหลักฐานตามลิงค์ https://image.mfa.go.th/mfa/0/Svp1QKEi4u/Info_(Passport)_Draft5.pdf
• ค่าธรรมเนียม 15 ริยาลโอมาน
• กรณีที่เคยมีหนังสือเดินทาง ให้แสดงหนังสือเดินทางฉบับเดิมด้วย
หมายเหตุ
• บิดามารดาจะต้องมาแสดงตนพร้อมผู้เยาว์และลงนามให้ความยินยอมในการออกหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
• ในกรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ที่ประเทศไทย ฝ่ายนั้นต้องทำ “ หนังสือให้ความยินยอม” ให้บุตรทำหนังสือเดินทางและเดินทางไปในต่างประเทศพร้อมทำสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายของผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศและมอบอำนาจให้บุคคลใดนำผู้เยาว์มาขอทำหนังสือเดินทาง โดยฝ่ายที่อยู่ในประเทศไทย ต้องทำหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว ณ ที่ว่าการเขตหรืออำเภอ
• ผู้เยาว์เกิดในต่างประเทศและยังมิได้ทำสูติบัตร บิดามารดาจะต้องติดต่อขอทำสูติบัตรไทย ณ สถานทูตไทยในประเทศที่เด็กเกิด ก่อนที่จะขอทำหนังสือเดินทาง
• ผู้เยาว์ที่มีสูติบัตรแล้ว แม้ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย สามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกได้ (อายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี) เมื่อได้รับหนังสือเดินทางแล้วและเดินทางไปไทยให้นำชื่อเข้าทะเบียนบ้านพร้อมขอทำบัตรประชาชนให้เรียบร้อย เนื่องจากเมื่อหนังสือเดินทางหมดอายุ การขอทำหนังสือเดินทางเล่มที่ 2 จะต้องแสดงบัตรประชาชนและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไทยเท่านั้น วิธีการการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านไทย ทำได้ 2 วิธี

1. ดำเนินการด้วยตนเองที่ประเทศไทย ที่สำนักงานเขต/อำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่
2. หากไม่สามารถกลับไปดำเนินการในไทยด้วยตนเองได้ บิดามารดาสามารถติดต่อเขต/อำเภอ ที่ประสงค์เพิ่มชื่อบุตรเข้าในทะเบียนบ้าน สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการมอบอำนาจ เมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้ว สามารถทำหนังสือมอบอำนาจได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยจองคิวเพื่่อเข้ามาทำหนังสือมอบอำนาจโดยเลือกหัวข้อหนังสือหนังสือมอบอำนาจทั่วไป ต้องมีเอกสารเพิ่มเติมคือสูติบัตรไทย

2.3 ข้าราชการและนักศึกษาที่ลามาศึกษาต่อ
เอกสารประกอบเช่นเดียวกับกรณีบุคคลทั่วไป โดยเพิ่มเติม
• หนังสือของส่วนราชการต้นสังกัดที่อนุมัติให้ลาศึกษาต่อ หรือสำเนา 1 ชุด
ท่านสามารถดูข้อมูลได้ที่ https://image.mfa.go.th/mfa/0/Svp1QKEi4u/Info_(Passport)_Draft5.pdf


2.4. พระภิกษุ
เอกสารประกอบเช่นเดียวกับกรณีบุคคลทั่วไป โดยเพิ่มเติม

• สำเนามติมหาเถรสมาคมอนุมัติการขอออกหนังสือเดินทาง ซึ่งระบุชื่อ และฉายา หรือนามสกุลที่ตรงกับหนังสือเดินทาง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• ใบสุทธิพระภิกษุสามเณร พร้อมสำเนา 1 ชุด
ท่านสามารถดูข้อมูลได้ที่ https://image.mfa.go.th/mfa/0/Svp1QKEi4u/Info_(Passport)_Draft5.pdf

3. ขั้นตอนการรับบริการ

1. กรอกคำร้องและอัพโหลดคำร้องเอกสารหลักฐานที่จะต้องยื่นส่งให้ สอท. ที่ email : [email protected]
2. สถานเอกอัครราชทูตฯ จะตรวจสอบข้อมูลและแจ้งผลการตรวจสอบ
3. เมื่อได้รับอีเมลยืนยัน "อนุมัติคำร้อง" ให้เตรียมต้นฉบับของคำร้องและเอกสารที่จะต้องยื่น และตอบกลับ สอท. ยืนยันวัน-เวลา ที่จะมาดำเนินการที่ สอท.
4. ผู้ร้องต้องมาดำเนินการด้วยตนเองตามวันเวลาที่นัดหมาย เพื่อบันทึกลายนิ้วมือ ม่านตา และถ่ายภาพ ลงในหนังสือเดินทาง
- โปรดเข้ารับบริการตาม วัน - เวลา นัดหมาย
- โปรดมาถึง สถานเอกอัครราชทูตฯ ก่อนเวลานัด 15 นาที
- "กรุณางดใส่คอนแทคเลนส์สี" ในวันที่ทำหนังสือเดินทาง
5. หลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะผลิตเล่มหนังสือเดินทาง ภายใน 2-4 สัปดาห์ สอท. จะแจ้งผู้ร้องให้มารับที่ สอท.
กรณีหนังสือเดินทางหมดอายุ/สูญหายในประเทศโอมาน และจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยด่วน ผู้เดินทางสามารถขอเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document) อายุใช้ได้เพียง 1 เดือน ในการเดินทางกลับประเทศไทยได้ครั้งเดียว ไม่สามารถใช้เดินทางไปยังประเทศที่สาม โดยมีขั้นตอนการดำเนินการและใช้คำร้องและเอกสารหลักฐานเช่นเดียวกัน แต่ใช้คำร้องเอกสารเดินทางสูญหาย/ฉุกเฉิน แทนและเพิ่มเติม บัตรโดยสารเครื่องบินที่ยืนยันกำหนดการเดินทาง
ท่านสามารถดูข้อมูลได้ที่ https://image.mfa.go.th/mfa/0/Svp1QKEi4u/Info_(Passport)_Draft5.pdf

ค่าธรรมเนียม สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่คิดค่าธรรมเนียม ในการออกเอกสารเดินทางฉุกเฉินและได้รับเอกสารในวันเดียวกับที่ทำเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document : ETD)

4. แบบคำร้อง

- คำร้องขอหนังสือเดินทาง
- คำร้องขอเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document)

5. การขอหนังสือเดินทางอายุ 10 ปี

ผู้ที่จะขอมีหนังสือเดินทางอายุ 10 ปี จะต้อง
- มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- มีเลขประจำตัวประชาชนแล้ว
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแล้ว

กรณีอื่นๆ นอกจากนี้ จะได้รับหนังสือเดินทาง 5 ปี เท่านั้น

เอกสารประกอบ

คำร้องขอเอกสารเดินทางฉุกเฉิน_(Emergency_Travel_Document)
คำร้องขอหนังสือเดินทาง